ข้าวหอมมะลินิล

ประวัติความเป็นมา

ข้าวเจ้าหอมนิลเป็นข้าวที่ได้รับการคัดเลือกและพัฒนาจนได้ข้าวที่มีเมล็ดข้าวกล้องเรียวยาวสีม่วงเข้ม ข้าวกล้องเมื่อหุงสุกจะนุ่ม เหนียว หอม ข้าวสารหุงสุกมีสีม่วงอ่อน นุ่ม และมีกลิ่นหอมเช่นกัน คุณสมบัติที่สำคัญของข้าวเจ้าหอมนิลคือ ข้าวกล้องมีโปรตีนสูงถึง 12.5 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณคาร์โบไฮเดรต 70 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณ amylose 16 เปอร์เซ็นต์ และยังประกอบไปด้วยธาตุเหล็ก สังกะสี ทองแดง แคลเซียม และโพแทสเซียม ซึ่งสูงกว่าข้าวขาวดอกมะลิ (ตารางที่ 1) นอกจากนี้ลักษณะดีเด่นของข้าวเจ้าหอมมะลิที่พบนอกจากคุณค่าทางโภชนาการได้แก่ ทรงต้นเตี้ย แตกกอดี เมล็ดมีน้ำหนักดี อายุสั้นเพียง 90 วันทำให้สามารถปลูกได้ถึง 3 ครั้งต่อปี ดังนั้นหากได้รับการจัดการที่เหมาะสมในการผลิตต่อปีสูงกว่าข้าวพันธุ์อื่น ๆ

 

ลักษณะทั่วไป

เป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อแสง สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี เมล็ดพันธุ์ข้าวกล้องเรียวยาว สีม่วงเข้ม เมื่อหุงสุกจะเหนียวและมีกลิ่นหอมน่ารับประทาน มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ถูกพัฒนาสายพันธุ์โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โดยข้าวหอมนิลจะให้ผลผลิตต่อไร่ประมาณ 400 – 700 กิโลกรัม อายุเก็บเกี่ยวสั้นประมาณ 95 วันหลังหว่าน ลำต้นสูประมาณ 50 เซนติเมตร การแตกกอดี ใบและลำต้นมีสีเขียวเข้มปนสีม่วง เปลือกหุ้มเมล็ดข้าวมีสีม่วงเข้ม เมล็ดข้าวกล้องยาวประมาณ 6.5 มิลลิเมตร ไม่ต้านทานโรคขอบใบแห้ง และแมลงโดยทั่ว ๆ ไป

ข้าวหอมนิลถือเป็นข้าวที่มีมีโปรตีนสูง มีอมิโลสประมาณร้อยละ 12 – 13 มีแคลเซียม ธาตุเหล็ก และสังกะสี เยื่อหุ้มเมล็ดที่เป็นสีม่วงเข้มประกอบด้วยสาร แอนโทไซยานิน โพรแอนโทไซยานิน ไบโอฟราโวนอย และวิตามินอี ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระในส่วนของรำและจมูกข้าว มีวิตามินอี วิตามินบี กรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง มีสารแอนโทไซยานิน สามารถช่วยลดการอักเสบของเนื้อเยื่อ ช่วยลดไขมันอุดตันในเส้นเลือดที่หัวใจและสมอง ช่วยบำรุงสายตาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็นเวลามองตอนกลางคืน

 

คุณค่าทางโภชนาการที่สำคัญ

โปรตีน 12.56 มิลลิกรัม

คาร์โบไฮเดรต 70 มิลลิกรัม

เหล็ก 3.26 มิลลิกรัมต่อ100กรัม

สังกะสี 2.9 มิลลิกรัมต่อ100กรัม

แคลเซียม 4.2 มิลลิกรัมต่อ100กรัม

โพแทสเซียม 339.4 มิลลิกรัมต่อ100กรัม

ทองแดง 0.1 มิลลิกรัมต่อ100กรัม

ที่มา : สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว

 

ที่มาข้อมูล กองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

Visitors: 2,368